test วัดสันติธรรม : Santidham : นครเชียงใหม่

เตรียมตัวก่อนเดินทางครั้งสุดท้าย

 

พระพุทธองค์ตรัสว่า “ อีกไม่นานกายนี้ก็จะนอนทับแผ่นดิน ปราศจากวิญญาณเหมือนท่อนไม้ที่ถูกทิ้งแล้ว หาประโยชน์ไม่ได้” พระติสสะพิจารณาตามเมื่อพระพุทธองค์ตรัสจบ ท่านก็บรรลุเป็นพระอรหันต์ พร้อมกับดับขันธ์ไปในเวลาเดียวกัน






โดย


อาวุธปญฺโญ ภิกขุ 

aomam_hipo@hotmail.com

๙ กันยายน ๒๕๕๐ 




“ ไม่เคยตายหรือ!” คุณคงเคยถูกคนอื่นตระโกนใส่หน้า หรืออาจเคยได้ยินคำนี้ผ่านเข้าหูแน่นอน คนเขามักตระโกนใส่หน้ากันยามเดือดดาล ทำนองต้องการจะให้กลัวมากกว่าจะต้องการคำตอบ ก็อย่างที่รู้กันอยู่ หรือคนที่ถูกถามตอกกลับอย่างท้าทายไม่ยอมลดลา “ คนเราเกิดมาครั้งเดียว ตายครั้งเดียว” (ถ้าเคยตายก็คงไม่อยู่ให้ถาม) แต่ความเป็นจริง เราทุกคนก็ต่างมีความกลัวตายกันอยู่โดยธรรมชาติ และยิ่งในปัจจุบันเรื่องความตายถูกกันไว้ห่างไกลจากชีวิต ผู้คนก็ยิ่งหวาดกลัวและไม่รู้จักกับความตายมากขึ้น จนในบางครั้งการพูดถึงเรื่องความตายก็ถือว่าเป็นอัปมงคล เราเฉยเมยกับความตายของคนที่ไม่เกี่ยวข้องผูกพัน หรือหากร่วมรับรู้ก็มักเป็นไปในทำนองไทยมุงที่อยากรู้อยากเห็น ถึงวันที่คนใกล้ชิดหรือใครสักคนที่เรารักจากไป เราก็โศกเศร้าอาลัยกันอย่างสุดใจ โดยมักไม่ได้คำนึงถึงความตายของตัวเอง จริงหรือไม่?  


เราอยู่ในยุคของการลืมความตาย และพยายามหนีความตาย ทั้ง ๆ ที่หนีอย่างไรก็มิใช่จะพ้น มีการคิดค้นเครื่องมือทางการแพทย์เพื่อยื้อชีวิตต่อไปอีก อาจช่วยต่อลมหายใจคนป่วยได้บ้าง แต่ก็แลกมาด้วยความทุกข์ทรมาน และค่าใช้จ่ายก็สูงลิ่ว สุดท้ายชีวิตก็ยังแตกดับไปตามหน้าที่ของสังขาร ธรรมาจารย์ชาวธิเบตท่านหนึ่งกล่าวไว้ว่า “คนเราอยู่อย่างไรก็ตายอย่างนั้น” การเผชิญหน้ากับความตายเป็นสิ่งจำเป็น การนึกถึงความตายมีประโยชน์ทำให้เราไม่ประมาท ดั่งองค์หลวงปู่สิม พุทธาจาโร ท่านได้อบรมสั่งสอนลูกศิษย์เป็นประจำเสมอว่า “ให้บริกรรมเสมอว่า มรณํ เม ภวิสฺสติ ความตายจะมาถึงเราแน่นอน” โดยให้เราระลึกว่า การพบกันครั้งนี้อาจเป็นครั้งสุดท้ายก็ได้ ต่อไปอาจจะไม่ได้พบกันอีก เราก็จะปฎิบัติต่อกันอย่างอ่อนโยน ที่ด่ากัน ที่ทะเลาะกัน แล้วคิดว่าไว้วันหลังค่อยคืนดีกัน มันอาจสายเกินไปก็ได้ เขาอาจจากลาไปก่อนที่จะได้คืนดีกัน แต่ถ้าเราตระหนักว่าเขาจะไปเมื่อไหร่ก็ไม่รู้ เราก็จะเร่งที่จะคืนดีกัน หรือไม่อย่าทะเลาะกันเลยเป็นดี



  


ความตายในสายตาปุถุชนทั่วไปคือ “ ภาวะจนตรอกที่เรามีแต่จะต้องพ่ายแพ้สถานเดียว” แต่กับคนที่ยอมรับและเข้าใจความตาย นั่นเป็นโอกาสแห่การเจริญงอกงามของชีวิตด้านจิตวิญญาณ ไม่ใช่แค่เพื่อไปเกิดในภพภูมิใหม่ที่พึงปรารถนา หากแต่จุดหมายสูงสุดคือ “ วิมุตติหรือการหลุดพ้นจากความตาย” คนเรานั้นตอนมีความสุขอาจเกิดความลุ่มหลงได้ง่าย คนที่ประสบความสำเร็จยิ่งมีความมั่นใจว่า ทุกอย่างอยู่ในอำนาจ อยู่ในกำมือ อยากให้รวยก็รวย อยากให้ชนะก็ชนะ แต่เมื่อใกล้ตายนี้เห็นชัดเลยว่า สังขารนอกจากไม่เที่ยงเป็นทุกข์แล้ว ยังไม่อยู่ในกำมือและการควบคุมของเราอีกด้วย


ฉะนั้น การตายจึงเป็นทั้งศาสตร์และศิลป์ที่ต้องเรียนรู้ วิธีการปฎิบัติเพื่อเข้าสู่ภาวะที่ท่านเรียว่า “ดับไม่เหลือ” ตามแนวทางของท่านพุทธทาสได้แสดงไว้ว่า ให้มีความดับไม่เหลือความรู้สึก “ตัวกู ของกู” อยู่เสมอในชีวิตประจำวัน หรืออีกวิธีหนึ่ง การตกกระไดพลอยโจน คือในเวลาจวนเจียนจะดับจิต อย่ากล่าวว่า มันง่ายเหมือนตกกระไดพลอยโจน ไหน ๆ เมื่อร่างกายนี้มันอยู่ต่อไปไม่ได้อีกแล้ว จิตหรือเจ้าของบ้านก็พลอยกระโจนตามไปก็แล้วกัน แต่พึงให้ใช้ปัญญาพิจารณา ให้กระจ่างขึ้นมาในขณะนั้นว่า ไม่น่ามีอะไรที่น่าจะกลับมาเกิดใหม่ เพื่อเอา เพื่อเป็น เพื่อหวังอะไร อีกต่อไป สมมุติว่าเราตายโดยไม่รู้ตัว เช่น โดนลอบยิง โดนระเบิด ถ้ามีความรู้สึกเพียงครึ่งวินาทีจงน้อมจิตไปสู่การดับไม่เหลือ แต่หากจิตดับไปโดยไม่มีเวลาเหลืออยู่ ก็ให้ถือเอาความดับไม่เหลือที่เราได้พิจารณาและมุ่งหมายอยู่เป็นประจำใจ ทุกค่ำเช้าเข้านอนนั่นเอง เป็นการดับไม่เหลืออยู่ดี ท่านพุทธทาสยังได้รจนาบทกวีชื่อว่า “ดับไม่เหลือ” ดังจะขออนุญาตยกมาเพื่อเป็นคติสอนใจต่อไป



“ เมื่อเจ็บไข้ ความตาย จะมาถึง

อย่าพรั่งพรึง หวาดไหว ให้หม่นหมอง

ระวังให้ ดีดี นาทีทอง

คอยจดจ้อง ให้ตรงจุด หลุดให้ทัน

หนึ่งนาที สุดท้าย อย่าให้พลาด

ตั้งสติ ไม่ประมาท เพื่อดับขันธ์

ด้วยจิตว่าง ปล่อยวาง ทุกสิ่งอัน



สารพันนั้น ไม่ยึดครอง เป็นของเรา

ตกกระได พลอยโจน ให้ดีดี

จะถึงที่ จุดหมาย ได้ง่ายเข้า

สมัคใจ ดับไม่เหลือ เมื่อไม่เอา

ก็ดับเรา ดับตน ดลนิพพาน "